ยุ่งทั้งวันแต่ไม่รู้ยุ่งอะไร งานไม่เสร็จสักอย่าง

ยุ่งทั้งวันแต่ไม่รู้ยุ่งอะไร งานไม่เสร็จสักอย่าง

ความโชคดีที่ดูเหมือนเป็นโชคร้ายของมนุษย์คือ สมองคนเราจะโฟกัสได้ทีละอย่างเท่านั้น การที่เรา multitask หรือ ทำหลายอย่างพร้อมกัน ทำให้สมองต้อง switch track กดปุ่ม เปิด ปิดสลับงานตลอดเวลา เหมือนเครื่องจักร ที่พอจะเปลี่ยนล็อตผลิตแต่ละที ก็ต้องปิดทั้งสายผลิตแล้วเปิดใหม่  ตั้งค่าเครื่องใหม่อีกรอบ เป็นการเสียพลังงานและทำให้ประสิทธิภาพต่ำลง

เมื่อสมองถูกแทรกงานไปมา ก็มีโอกาสผิดพลาดสูง แถมเราทำงานหนึ่งอยู่ ก็คิดว่างานสองจะทำยังไงดี ทำงานสองอยู่ก็แอบกังวลว่างานสามจะทันไหม ทำงานสามไปคิดงานหนึ่ง เรื่อยไปอย่างนี้ สรุปคือ ไม่มีงานไหนเลยที่เราจะตั้งใจเต็มที่ในขณะที่ทำ ความชาญฉลาดเฉียบคมของเราก็ไม่ได้ใช้เต็มที่ มีคำตอบที่ดีกว่านี้ก็มองไม่ออก 

ความสร้างสรรค์และทางออกของปัญหายากๆ จะมาเมื่อใจจดจ่อกับสิ่งนั้นในภาวะใจสบายๆ หรือที่เรียกว่า flow แต่ความวุ่นวายที่เกิดจากการปิดเปิดสับรางสมองตลอดเวลา ก็ปิดกั้นเราไม่ให้เข้าถึงศักยภาพตรงนั้นเท่าที่ควรเป็น

ที่อเมริกามีการวิจัยตรงนี้โดย Dr. Richard Davison กับคณะศึกษาได้ทำการสุ่มโทรศัพท์หาคนอเมริกันจำนวนมาก แล้วถามเพียงสามคำถาม คือ (1) ทำอะไรอยู่  (2) ในหัวกำลังคิดเรื่องอะไรอยู่ (3) มีความสุขแค่ไหน

เขาพบว่าคนที่คิดพิเคราะห์ในสิ่งที่กำลังทำอยู่ตรงหน้าจะมีความสุขมากกว่า และการทดลองทางคลื่นสมองก็ยืนยันว่า ส่วนของสมองที่หลั่งสารความสุขจะทำงานได้ดีกว่า เมื่อเราจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรา  การทำงานหลายอย่าง หรือคิดในสิ่งอื่นที่ไม่ใช่สิ่งตรงหน้า นอกจากจะไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังไม่มีความสุขด้วย

แต่อย่าเพิ่งสับสนว่า อินสปายราแนะนำให้ทำวันละอย่างนะคะ ในวันนึงคุณสามารถทำหลายอย่างได้ แต่ขอให้ทำ “ขณะละอย่าง”   คือให้ใจอยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า  เช่นอยู่ในห้องประชุมก็คิดเรื่องที่ประชุมและให้มันเต็มที่เรื่องนั้นไป

ถ้าทำได้ ทุกๆขณะของคุณจะชัดเจน คุณจะรู้สึกยุ่งวุ่นวายน้อยลง มีความชัดเจนของการบริหารเวลาแต่ละวันมากขึ้น ลองฝึกดูแล้วมานำผลมาเล่าสู่กันฟังนะคะ

แบ่งปันเนื้อหานี้:

Facebook
Twitter
LinkedIn
อ.เอ้ อิศรา สมิตะพินทุ
อ.เอ้ อิศรา สมิตะพินทุ

ผู้ก่อตั้งบริษัท อินสปายรา จำกัด และสร้างสรรค์หลักสูตรอบรมและหลักสูตรการโค้ชเพื่อดึงศักยภาพของบุคลากรโดยใช้หลักการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Action Learning)

หัวข้อในบทความนี้